ฉลาดขนาดนี้แล้ว กูเกิล (Google) ยังฉลาดเพิ่มขึ้นได้อีก ล่าสุดเขย่าโลกสืบค้นข้อมูลออนไลน์ครั้งใหญ่ด้วยการเปิดตัว 3 บริการใหม่รวดเดียว หนึ่งคือการเพิ่มเนื้อหาจากเครือข่ายสังคมหลากหลายค่ายที่มีจุดแข็งเรื่องการอัปเดทตลอดเวลาทุกนาทีมาแสดงไว้ที่หน้าผลการค้นหาด้วย ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดของกูเกิลในรอบหลายปี สองคือบริการ "เฟเวอริตเพลส (Favorite Places)" บริการค้นหาทางโทรศัพท์มือถือจากรหัส QR code ที่กูเกิลเล่นง่ายๆด้วยการส่งป้ายรหัสให้ผู้มีธุรกิจติดไว้ที่หน้าร้านเพื่อให้ผู้ผ่านไปมาถ่ายรูปเพื่อหาข้อมูลก่อนตกลงใจเข้าร้าน
สามคือ "กูเกิล ก็อกเกิล (Google Goggle)" แอปพลิเคชันสำหรับสมาร์ทโฟนที่ผู้ใช้สามารถค้นหาข้อมูลได้เพียงถ่ายภาพสิ่งของหรือสถานที่ที่ต้องการแล้วส่งไปให้กูเกิลดู เป็นที่มาของคำว่า "กูเกิลมีดวงตาแล้ว"
***บอกลาข้อมูลเก่า
เบื้องหลังการยกตัวเองเป็นบริการสืบค้นข้อมูลเรียลไทม์ของกูเกิลคือเนื้อหาที่ถูกอัปเดททุกวินาทีบนเฟสบุ๊ก (Facebook), ทวิตเตอร์ (Twitter) และมายสเปส (MySpace) โดยกูเกิลให้คำจำกัดความคุณสมบัติใหม่นี้ว่า real-time search stream ซึ่งทำให้กูเกิลสามารถทำดัชนีคอนเทนท์สดใหม่บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ใช้กูเกิลไม่ต้องจมอยู่กับข้อมูลเก่าเก็บอย่างที่ผ่านมา
จุดนี้ผู้ใช้กูเกิลที่ต้องการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับงานอีเวนต์ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนั้นจะได้รับประโยชน์มาก เนื่องจากผู้ใช้จะได้รู้ว่าชาวเน็ตรายอื่นๆบรรยายความเคลื่อนไหวของงานไว้อย่างไร ข้อความทวีตใดบ้างที่น่าสนใจ รวมถึงข่าวสั้นและบล็อกที่เพิ่งโพสต์ขึ้นสู่อินเทอร์เน็ต โดยผู้ใช้สามารถเลือกผลการสืบค้นล่าสุดหรือ "Latest results" ได้จากเมนูสืบค้นของกูเกิลเพื่อชมผลลัพท์เฉพาะที่เป็นเนื้อหาที่อัปเดทด่วนจากเครือข่ายสังคม
เมนู Latest results สามารถใช้งานได้ทั้งบนไอโฟนของแอปเปิล (iPhone) และสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) โดยกูเกิลระบุว่าจะเริ่มให้บริการในทุกภูมิภาคทั่วโลกภายในสัปดาห์นี้เป็นภาษาอังกฤษ
นอกจากการติดอาวุธให้บริการเสิร์ช กูเกิลยังเสริมแกร่งบริการค้นหาในท้องถิ่นด้วยบริการชื่อ Favorite Places บริการนี้ถูกมองว่าไม่มีความซับซ้อนแต่จะเป็นประโยชน์มากทั้งในแง่เจ้าของธุรกิจและผู้บริโภค
***เสิร์ชก่อนเข้าร้าน
หลักการง่ายๆของบริการ Favorite Places คือ กูเกิลจะส่งสติกเกอร์ติดกระจกให้กับร้านค้าในท้องถิ่นที่ถูกสืบค้นมากที่สุดในกูเกิลและกูเกิลแมปส์ (Google Maps) จำนวน 100,000 อันดับแรก สติกเกอร์ดังกล่าวไม่ใช่สติกเกอร์ธรรมดาแต่เป็นสติกเกอร์ภาพ QR code หรือที่เรียกกันว่าบาร์โค้ด 2 มิติ ประโยชน์จะเกิดขึ้นทันที่ที่ผู้ใช้เดินผ่านร้านที่เห็นสัญลักษณ์นี้ แล้วลงมือถ่ายภาพรหัส QR code เพื่อเสิร์ชในกูเกิล เพราะผู้ใช้จะได้อ่านข้อมูลรีวิวร้าน และได้รับคูปองส่วนลดก่อนจะก้าวเท้าเข้าไปในร้าน ซึ่งหากเข้าไปแล้ว ก็สามารถย้อนกลับมาให้คะแนนร้านหรือ"ให้ดาว"ได้ในอนาคต
ผู้ใช้สามารถอ่านรหัส QR code ได้จากโปรแกรมอ่านบาร์โค้ดซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายละเอียดเงื่อนไขการให้บริการนี้จากกูเกิล ซึ่งคาดว่าจะเริ่มชิมลางในสหรัฐฯก่อนจะขยายไปยังประเทศอื่นที่กูเกิลเปิดบริการค้นหาธุรกิจในท้องถิ่น