จีนเริ่มปล่อยดาวเทียมชุดแรก สร้างเครือข่ายซูเปอร์คอมพิวเตอร์เอไอในอวกาศ เตรียมปูทางสู่การประมวลผลระดับ 1,000 POPS
จีนเดินหน้าสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศและปัญญาประดิษฐ์ ล่าสุด China Aerospace Science and Technology Corporation (CASC) บริษัทอวกาศของรัฐบาลจีน ประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียมชุดแรกจำนวน 12 ดวง เพื่อสร้าง เครือข่ายดาวเทียมซูเปอร์คอมพิวเตอร์ในอวกาศ จากทั้งหมด 2,800 ดวง ตามแผนการในอนาคต
ภารกิจดังกล่าวถูกส่งขึ้นจาก ศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียน ด้วยจรวด Long March 2D โดยดาวเทียมทั้งหมดอยู่ภายใต้โครงการ Star Compute ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดาวเทียมที่มีชื่อว่า Three-Body Computing Constellation พัฒนาโดย ADA Space ร่วมกับ Zhijiang Laboratory และ Neijang High-Tech Zone
ประมวลผลในอวกาศ ลดขั้นตอน ลดเวลา
ดาวเทียมแต่ละดวงถูกติดตั้งด้วยโมเดล AI ขนาด 8 พันล้านพารามิเตอร์ สามารถประมวลผลข้อมูลได้ถึง 5 POPS (Peta Operations Per Second) หรือ 744 TOPS (Tera Operations Per Second) โดยไม่จำเป็นต้องส่งข้อมูลกลับมายังโลกเพื่อประมวลผล ช่วยลดเวลาในการจัดการข้อมูลอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การวิเคราะห์ภาพถ่ายจากดาวเทียม ข้อมูลสภาพอากาศ หรือการตอบสนองต่อภัยพิบัติฉุกเฉิน
นอกจากนี้ ระบบยังรองรับการสื่อสารระหว่างดาวเทียมด้วย เลเซอร์ความเร็วสูงถึง 100 Gbps มีพื้นที่จัดเก็บข้อมูลขนาด 30 TB ต่อดวง และใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานหลัก ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ภารกิจวิทยาศาสตร์และศักยภาพเหนือ El Capitan
ดาวเทียมทั้ง 12 ดวง ยังถูกติดตั้งด้วยอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ เช่น เครื่องตรวจจับโพลาไรเซชันรังสีเอกซ์ (X-ray Polarization Detector) ซึ่งสามารถตรวจสอบปรากฏการณ์ในจักรวาล เช่น การระเบิดของรังสีแกมมา อีกทั้งยังรองรับการสร้างแบบจำลอง 3 มิติของพื้นที่ เพื่อใช้ประโยชน์ในงานด้านความปลอดภัย เกม หรือการท่องเที่ยวเชิงเทคโนโลยี
หากโครงการแล้วเสร็จ เครือข่ายดาวเทียมทั้งหมดจะสามารถประมวลผลร่วมกันได้สูงสุดถึง 1,000 POPS ซึ่ง ทรงพลังกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ El Capitan ของสหรัฐฯ ที่ทำได้ 1.72 POPS อยู่ถึง กว่า 600 เท่า
แม้ที่ผ่านมา สหรัฐฯ และยุโรปจะมีการทดลอง Edge computing ในอวกาศ และศึกษาแนวทางการสร้างดาตาเซนเตอร์บนวงโคจรมาแล้ว แต่จีนถือเป็น ประเทศแรกของโลก ที่เดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในการสร้าง เครือข่ายดาวเทียม AI สำหรับประมวลผลระดับซูเปอร์คอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ
วันที่ : 2568-05-30 14:05:04